ต้องยอมรับว่าคนไทยเรานอนกรนกันไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก
ศ.น.พ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ หัวหน้าศูนย์เพื่อคุณภาพการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า นอนกรนเกิดจากการที่ช่องคอแคบลงมากกว่าปกติในขณะหลับ ทำให้ลมหายใจเข้า-ออกแรงขึ้น โดยเนื้อเยื่อของผนังคอ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และโคนลิ้นมีการสั่นสะเทือนจนเกิดเสียงดังขึ้น
โดยคนที่มีอาการมากจะพบว่าผนังคอยุบตัวลงจนอากาศไม่สามารถผ่านไปได้ชั่วขณะ หรือเรียกว่า การหยุดกายใจ ขณะหลับ ทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบตามไปด้วย
เพราะมันอาจจะเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง ขาดเลือด เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ความจำถดถอย ง่วงนอนกลางวัน หลับใน
ซึ่งมีสถิติที่น่ารู้เกี่ยวกับการนอนกรน...
ผู้ชายสูงอายุนอนกรนมากถึงร้อยละ 28-30
ผู้หญิงสูงอายุและอยู่ในวัยหมดประจำเดือนนอนกรน ร้อยละ 20-54
ผู้ที่นอนกรนเป็นประจำจะมีการหยุดหายใจร่วมด้วยร้อยละ 20
มักพบอาการหยุดหายใจขณะหลับในคนอ้วน และมากกว่า ร้อยละ 60 ในกลุ่มผู้มีอาการหยุดหายใจขณะหลับจะมีความผิดปกติบริเวณจมูกหรือเพดานอ่อน ลิ้นไก่ยาว ต่อมอะดีนอยด์โต ทอนซิลโต ลิ้นโต คอสั้น คางเลื่อนไปด้านหลัง หรือคางเล็ก
ผู้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ ร้อยละ 33 จะง่วงนอนมาก ผิดปกติในตอนกลางวัน
ผู้ที่มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน ร้อยละ 40 มักมีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
ผู้ที่มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน มักเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเทียบกับผู้ที่ไม่มีอาการเท่ากับร้อยละ 52 : 36
ผู้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับมักขับรถประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า
ผู้ที่มีการหยุดหายใจขณะหลับในระดับรุนแรงน้อย คือ น้อยกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีอัตราการเสียชีวิตจากการ หยุดหายใจขณะหลับเฉลี่ยร้อยละ 8 หากหยุดหายใจมากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมงจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-16 และเมื่อเทียบกับคนปกติแล้วจะมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงกว่า 2-3 เท่า เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่า 2 เท่า และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 3 เท่า
กลุ่มผู้ที่มีการหยุดหายใจขณะหลับซึ่งได้รับการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ ไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตในช่วงการติดตามผลในระยะ 8 ปี ขณะที่กลุ่มผู้ซึ่งไม่ได้รับการรักษาจะพบอัตราการเสียชีวิตจากการหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ 11 ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากที่ตรวจพบว่ามีอาการ ซึ่งสถิติของทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
แต่ในปัจจุบันอาการนอนกรนรักษาให้หายได้ ท่านสามารถหาความรู้เรื่องนอนกรนเพิ่มเติมได้จากหนังสือ "นอนกรน" เขียนโดย ศ.น.พ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์
credit: http://www.kroobannok.com/40645
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น คุยกันสนุกๆ