คำสอนท่าน ว.วชิรเมธี
มหัศจรรย์แห่งชีวิต... หลักคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี
กลัวลูกมีเซ็กส์ในวัยเรียน?
ไม่อยากให้เกิด ต้องเอาปัญญาใส่ในมือลูก
ให้เงินลูกน้อยๆ ให้ความรู้แก่ลูกมากๆ ด่าลูกน้อยๆ ให้คำสอนลูกมากๆ
ไหว้พระขอพรอะไรดี?
- ขออย่าให้โลภจนหน้ามืด
- ขออย่าให้โกรธจนทำร้ายตัวเอง
- ขออย่าให้หลงจนไม่รู้ดีรู้ชั่ว
- ขออย่าให้ตายในสงคราม ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
ท้อแท้กับปัญหามากมายทำอย่างไรดีี?
ปลาที่ยังเป็นอยู่ ล้วนเรียนรู้ที่จะว่ายทวนน้ำ
ส่วนปลาตาย มักไหลตามน้ำ
ปัญหาทำให้คนธรรมดาท้อ แต่ทำให้คนมีปัญญาลุกขึ้นมาแก้ไข
ทะเลาะกับแฟนจนไม่มีสมาธิทำงาน?
งานส่วนงาน แฟนส่วนแฟน
รู้จักแบ่งเวลาให้งาน รู้จักแบ่งเวลาให้แฟน
อย่าเสียงานเพราะแฟน อย่าเสียแฟนเพราะงาน
โกรธ! ถูกเพื่อนนินทา?
โบราณว่าไม่มีใครเตะหมาที่ตายแล้ว
คุณถูกนินทาแสดงว่าคุณยังมีความหมาย
คุณเป็นคนโชคดี จู่ๆ ก็มีกระจกวิเศษสะท้อนความอัปลักษณ์
ให้เห็นความบกพร่องของตัวเอง
จับได้ว่าแฟนมีกิ๊กทำอย่างไรดี?
- ถามตัวเองว่าเราดีกับเขาพอหรือยัง
- ระหว่างเรากับกิ๊กมีข้อดีข้อด้อยต่างกันตรงไหน
- ถามแฟนว่าจะเลือกใครก็รีบทำ ไม่รักฉัน อย่าทำให้ฉันเสียเวลา
โดนเพื่อนร่วมงานแย่งซีนทำอย่างไร?
เขาแย่งจากเราได้เพียงแค่ซีนและภาพลักษณ์เท่านั้น
แต่เขาไม่สามารถแย่งความรู้และความสามารถไปจากเราได้
งานเยอะมากทำอย่างไรดี?
- รู้ว่างานเยอะต้องรีบทำ
- อย่าดองงานข้ามปีข้ามชาติ
- เรียงลำดับความสำคัญของงาน สำคัญก่อนให้รีบทำ สำคัญน้อยค่อยทยอยทำ
ทำงานดี มีแต่คนริษยา จะรับมืออย่างไร?
โบราณว่า ไม้ใหญ่ย่อมเจอขวานคม
คนเด่นต้องมีคนด่า คนมีปัญญาจึงมีคนลองดี
คนทำงานดีจึงมีคนริษยา ปรากฏการณ์เช่นว่านี้
เป็นของธรรมดา ทำงานดีจนมีคนริษยา
ยังดีกว่าทำงานไม่ดี จึงเป็นได้อย่างดีแค่คนที่คอยริษยา
ทำงานแทบตาย เงินไม่พอใช้ ทำอย่างไรดี?
- หางานใหม่
- ลดความต้องการให้น้อยลง อยู่กับความจริงให้มาก
- บริโภคปัจจัยสี่โดยมุ่งประโยชน์ อย่ามุ่งประดับ
- ทำบัญชีรายรับรายจ่าย รับมากกว่าจ่ายจึงนับว่ายอด จ่ายมากกว่ารับนับว่าแย่
ถูกนายด่า อารมณ์เสีย?
คนที่ด่าคนอื่นสะท้อนว่าระบบข้างใจกำลังพัง
คนอารมณ์เสียเพราะถูกด่า
แสดงว่าระบบของตัวเองก็พังตามไปด้วย
ไถ่ชีวิตโคได้บุญมากไหม?
ถ้าไถ่แล้วโคอยู่รอด คุณได้บุญ
แต่หากไถ่เพื่อทำให้วัดอยู่รอด คุณได้บาป
แทนที่จะไถ่โคกระบือ
คุณควรไถ่ตัวเองให้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง ดีกว่า
แฟนติดหนังเกาหลี ดูทั้งคืนไม่ยอมนอน?
ขอให้คิดว่าอย่างน้อยเธอยังนั่งดูอยู่ในบ้าน
ถึงเธอจะติดหนังเกาหลี ก็ยังดีกว่าติดผู้ชายขี้หลีที่อยู่นอกบ้าน
ลูกค้าจู้จี้ทำอย่างไรดี?
มีลูกค้าจู้จี้ยังดีกว่าวันทั้งวันไม่มีใครแวะเวียน
ผ่านมาเยี่ยมเยียนถึงในร้าน
ลูกค้าจู้จี้ได้ แต่คุณต้องทำให้เขาประทับใจเอาไว้เสมอ
ไปงานวันเกิดควรได้อะไร?
- ได้ถามตัวเองว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร
- ได้ถามตัวเองว่า เราเกิดมาจากใคร
- ได้ถามตัวเองว่า เรากตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดแล้วหรือยัง
สวดมนต์บทไหนดี?
- สวดพุทธคุณเพื่อเตือนว่า จงเป็นผู้ตื่น
- สวดธรรมคุณเพื่อเตือนว่า จงเว้นสิ่งที่ควรเว้น จงทำสิ่งที่ควรทำ
- สวดสังฆคุณเพื่อเตือนว่า พระอรหันต์ที่แท้ คือพ่อกับแม่ที่อยู่ในบ้านของเรานั่นเอง
สามีไม่สนใจธรรมะเลยทำอย่างไรดี?
- เราควรมีธรรมะให้เขาดู
- เราควรอยู่ให้เขาเห็น
- เราควรสงบเย็นให้เขาได้สัมผัส เนื่องเพราะ หนึ่งการกระทำสำคัญกว่าพันคำพูด
โดนขับรถปาดหน้า โมโหมาก?
- บอกตัวเองว่าโกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ด่าคือมาร ระรานคือบาป
- เปลี่ยนการด่าเป็นการแผ่เมตตาให้เขาถึงที่หมายโดยปลอดภัย
- เตือนตนไว้ว่า อย่าขับรถปาดหน้าใคร เพราะอาจมีอันตรายรอบด้าน
อยู่ในกลุ่มเพื่อนชอบนินทาจะตีจากดีไหม?
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า คนชอบนินทาคือคนที่ชอบกินของเน่า
ถ้าเราร่วมผสมโรงไปกับเขา แสดงว่าเราเองก็ชอบกินของเน่าไม่เบาเหมือนกัน
ทำไมมักเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจอยู่เสมอ?
ผู้รู้บอกว่า ศิลปินอย่าดูหมิ่นศิลปะ กองขยะดูดีๆ ยังมีศิลป์
ดังนั้น ในสิ่งที่คุณไม่ชอบ ย่อมมีแง่มุมที่คุณชอบอย่างแน่นอน
"ความรู้ ที่ท่านอาจจะ ยังไม่รู้" ว.วชิรเมธี
(01) รู้รอบตัวมากมาย แต่ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ก็เสื่อม
(02) รู้เว้นงู เว้นเสือ เว้นมีดปืน แต่ไม่รู้เว้นอบายมุข ก็เสื่อม
(03) รู้ภาษาต่างประเทศ แต่ไม่รู้คุณค่าภาษาไทย ก็เสื่อม
(04) รู้ตอบคำถาม แต่ไม่รู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ก็เสื่อม
(05) รู้ที่กินที่เที่ยว แต่ไม่รู้ที่สูงที่ต่ำ ก็เสื่อม
(06) รู้วันเดือนปี แต่ไม่รู้จักกาลเทศะ ก็เสื่อม
(07) รู้พยากรณ์อากาศ แต่ไม่รู้ว่าชีวิตมีขึ้นมีลง ก็เสื่อม
(08) รู้จักรวาลวิทยานภากาศ แต่ไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ก็เสื่อม
(09) รู้จักคนมากมายหลายวงการ แต่ไม่รู้จักตนเอง ก็เสื่อม
(10) รู้จักบริหารตนบริหารงาน แต่ไม่รู้จักบริหารใจ ก็เสื่อม
(11) รู้วิธีหาเงิน แต่ไม่รู้วิธีบริหารเงิน ก็เสื่อม
(12) รู้จักสร้างตึกสูงนับร้อยชั้น แต่ไม่รู้วิธีฝึกใจให้สูง ก็เสื่อม
(13) รู้คุณของเงินทอง แต่ไม่รู้คุณของพ่อแม่ ก็เสื่อม
(14) รู้จักโกรธ แต่ไม่รู้จักให้อภัย ก็เสื่อม
(15) รู้กฎกติกามารยาท แต่ไม่รู้กฎแห่งกรรม ก็เสื่อม
(16) รู้จักสวมนาฬิกาแพง แต่ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา ก็เสื่อม
(17) รู้จักการเข้าสังคม แต่ไม่รู้จักเข้าหาสังฆะ ก็เสื่อม
(18) รู้เรียนเอาปริญญาสูงๆ แต่ไม่รู้จักยกพฤติกรรมให้สูง ก็เสื่อม
(19) รู้ที่จะมีลูก แต่ไม่รู้จักเลี้ยงลูก ก็เสื่อม
(20) รู้ที่จะรัก แต่ไม่รู้จักรับผิดชอบ ก็เสื่อม
(21) รู้ที่จะดู แต่ไม่รู้ที่จักเห็น ก็เสื่อม
(22) รู้ที่จะนับถือ แต่ไม่รู้จะนับถืออย่างไร ก็เสื่อม
(23) รู้ที่จะพูด แต่ไม่รู้จักศิลปะการพูด ก็เสื่อม
(24) รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องตาย แต่ไม่รู้จักเตรียมตัวตาย ก็เสื่อม
"มีไปทำไม ?" ว.วชิรเมธี
(01) มีเงินนับแสนล้าน แต่ใช้จริงวันละไม่ถึง ๑๐๐ บาท มีไปทำไม ?
(02) มีบ้านใหญ่โตเหมือนกับวัง แต่อยู่กันแค่ ๔ คนพ่อแม่ลูก มีไปทำไม ?
(03) มีรถนับสิบคัน แต่ใช้งานจริงแค่คันเดียว มีไปทำไม ?
(04) มีเตียงใหญ่โตมโหฬาร แต่นอนเพียงแค่เต็มแผ่นหลัง มีไปทำไม ?
(05) มีนาฬิกาแสนแพง แต่ไม่เคยทำอะไรตรงเวลา มีไปทำไม ?
(06) มีเวลาอยู่ในโลกไม่ถึงร้อยปี แต่กลับแบ่งเวลาไปริษยาคนอื่น ทำไปทำไม ?
(07) มีกฎหมายนับพันมาตรา แต่มีอาชญากรอยู่เต็มเมือง มีไปทำไม ?
(08) มี ส.ส. อยู่เต็มสภา แต่มาประชุมไม่เคยครบเลย มีไปทำไม ?
(09) มีพ่อแม่อยู่ที่บ้าน แต่ไม่เคยปรนนิบัติท่านเลย มีไปทำไม ?
(10) มีอำนาจอยู่เต็มมือ แต่ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย มีไปทำไม ?
(11) มีภรรยาแสนดี แต่ไม่เคยแบ่งเวลาให้เธอเลย มีไปทำไม ?
(12) มีลูกแสนน่ารัก แต่ไม่เคยโอบกอดลูกเลย มีไปทำไม ?
(13) มีพระไตรปิฎกอยู่เต็มตู้ แต่ไม่เคยเปิดออกมาศึกษาเลย มีไปทำไม ?
(14) มีวัดอยู่แทบทุกหมู่บ้าน แต่ศีลธรรมของสังคมแย่ลงทุกวัน มีไปทำไม ?
(15) มีรองเท้าเป็นพันคู่ แต่ใส่จริงแค่วันละคู่ มีไปทำไม ?
(16) มีพี่น้องนับสิบคน แต่แตกสามัคคีกันทุกคน มีไปทำไม ?
(17) มีมือมีเท้าสมบูรณ์ แต่ไม่เคยลงแรงทำอะไรเลย มีไปทำไม ?
(18) มีหูอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยฟังธรรมเลย มีไปทำไม ?
(19) มีตาอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยมองหาสิ่งที่ดีเลย มีไปทำไม ?
(20) มีเท้าอยู่สองข้าง แต่ไม่เคยเดินเข้าหาโอกาสเลย มีไปทำไม ?
(21) มีปัญญาอยู่กับตัว แต่กลับใช้อารมณ์เป็นใหญ่ มีไปทำไม ?
"ขืนทำ...จะช้ำใจ" ว.วชิรเมธี
(01) อย่าทำงานจนป่วยตาย
(02) อย่าหลงเสน่ห์อบายมุข
(03) อย่ามีความสุขที่ผิดศีลธรรม
(04) อย่าจำแต่เรื่องเลวร้าย
(05) อย่าสบายจนเคยตัว
(06) อย่ากลัวที่จะก้าวไปข้างหน้า
(07) อย่าบ้าฟังคนสอพลอ
(08) อย่ารอให้พระเจ้ามาช่วย
(09) อย่ารวยบนความฉ้อฉล
(10) อย่าเป็นคนเห็นแก่ได้
(11) อย่าใช้คนไม่เหมาะกับงาน
(12) อย่าปากหวานจนเสียระบบ
(13) อย่าคบคนมองโลกในแง่ร้าย
(14) อย่าขายศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
(15) อย่าเป็นชาวพุทธแต่พึ่งไสย
(16) อย่าสนใจแต่เรื่องของตนเอง
(17) อย่าเก่งอยู่คนเดียว
(18) อย่าเที่ยวเกินขอบเขต
(19) อย่าใช้พระเดชจนลืมพระคุณ
(20) อย่าพึ่งใบบุญคนอื่นตลอดกาล
(21) อย่าชำนาญในเรื่องชั่วชั่ว
(22) อย่าเมามัว กิน กาม เกียรติ
(23) อย่าเกลียดคนที่คิดแตกต่าง
(24) อย่าปลูกต้นกร่างต้นไทร
(25) อย่าลืมใครผู้เคยทำคุณ
(26) อย่าสนับสนุนคนพาล
(27) อย่าให้ทานกับคนไม่เห็นคุณค่า
(28) อย่ายกเงินตราขึ้นเป็นพระเจ้า
"เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต" ว.วชิรเมธี
(01) สิ่งที่เธอควรมี "สติปัญญา"
(02) สิ่งที่เธอควรแสวงหา "กัลยาณมิตร"
(03) สิ่งที่เธอควรคิด " ความดีงาม"
(04) สิ่งที่เธอควรพยายาม "การศึกษา"
(05) สิ่งที่เธอควรเข้าหา "นักปราชญ์"
(06) สิ่งที่เธอควรฉลาด "การเข้าสังคม"
(07) สิ่งที่เธอควรนิยม "ความซื่อสัตย์"
(08) สิ่งที่เธอควรตัด "อกุศลมูล"
(09) สิ่งที่เธอควรเพิ่มพูน "บุญกุศล"
(10) สิ่งที่เธอควรอดทน "การดูหมิ่น"
(11) สิ่งที่เธอควรกิน "พุทธธรรม"
(12) สิ่งที่เธอควรจดจำ "ผู้มีคุณ"
(13) สิ่งที่เธอควรเทิดทูน "สถาบันกษัตริย์"
(14) สิ่งที่เธอควรขจัด "ความเห็นแก่ตัว"
(15) สิ่งที่เธอควรเลิกเมามัว "การพนัน"
(16) สิ่งที่เธอควรสร้างสรรค์ "สัมมาชีพ"
(17) สิ่งที่เธอควรเร่งรีบ "การแทนคุณบุพการี"
(18) สิ่งที่เธอควรปฎิบัติทันที "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด"
นัยอันล้ำลึกของคำว่า “ขอบคุณ” ว.วชิรเมธี
(01) ขอบคุณความไม่รู้ ที่ทำให้รู้วิธีลุกขึ้นสู้
(02) ขอบคุณความยากจน ที่ทำให้เป็นคนมุมานะ
(03) ขอบคุณความล้มเหลว ที่ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ
(04) ขอบคุณความผิดพลาด ที่ทำให้ฉลาดยิ่งกว่าเดิม
(05) ขอบคุณความริษยา ที่ทำให้กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่
(06) ขอบคุณคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ทำให้ผลิบานอย่างไร้ข้อตำหนิ
(07) ขอบคุณความไม่รู้ ที่ทำให้รู้จักครูที่ชื่อประสบการณ์
(08) ขอบคุณความผิดหวัง ที่ทำให้ตั้งสติเพื่อลุกขึ้นมาใหม่
(09) ขอบคุณศัตรูที่แกร่งกล้า ที่ทำให้รู้ว่าเรายังไม่ใช่มืออาชีพ
(10) ขอบคุณมหกรรมคอรัปชั่น ที่ทำให้เราอยากสร้างสรรค์การเมืองใหม่
(11) ขอบคุณความป่วยไข้ ที่ทำให้เราตั้งใจดูแลสุขภาพ
(12) ขอบคุณความทุกข์ที่ ทำให้เรารู้ว่าความสุขมีค่าแค่ไหน
(13) ขอบคุณความพลัดพราก ที่ทำให้เราสละจากความยึดมั่น ถือมั่น
(14) ขอบคุณเพลิงกิเลส ที่ทำให้เรามีเหตุอยากถึงพระนิพพาน
(15) ขอบคุณความตาย ที่ทำให้ฉากสุดท้ายของชีวิตสมบูรณ์แบบ
"จะดีกว่าไหม ???" ว.วชิรเมธี
(01) ถ้าเปลี่ยน "การสะเดาะเคราะห์" เป็น "การคิดเชิงวิเคราะห์"
(02) ถ้าเปลี่ยน" การโทษดวง" เป็น "การวิพากษ์ตนเอง"
(03) ถ้าเปลี่ยน "การบูชาราหู" เป็น "บูชาบุคคลที่ควรบูชา"
(04) ถ้าเปลี่ยน"การตัดกรรม" เป็น "การตัดพฤติกรรม"
(05) ถ้าเปลี่ยน "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เป็น "ไม่เชื่อต้องศึกษา"
(06) ถ้าเปลี่ยน "ฮวงจุ้ย" เป็น "การรู้จักใช้คน"
(07) ถ้าเปลี่ยน "ผลประโยชน์" เป็น "ประโยชน์สุข"
(08) ถ้าเปลี่ยน "ชื่อ-นามสกุล" เป็น "การเปลี่ยนวิธีคิด"
(09) ถ้าเปลี่ยน"คำด่า" เป็น "คำแนะนำ"
(10) ถ้าเปลี่ยน "เก่งแต่โกง" เป็น "เก่งและดี"
(11) ถ้าเปลี่ยน "รัฐธรรมนูญ" เป็น "การพัฒนาคุณภาพคน"
(12) ถ้าเปลี่ยน"ธนาธิปไตย" เป็น "ประชาธิปไตย"
(13) ถ้าเปลี่ยน"การลงโทษ" เป็น "การฝึกอบรม"
(14) ถ้าเปลี่ยน"จตุคาม" เป็น "จุตธรรม"(ทุกข์/สมุทัย/นิโรธ/มรรค)
(15) ถ้าเปลี่ยน"อยากรู้" เป็น "อยากเรี ยนรู้"
(16) ถ้าเปลี่ยน"ปริญญา" เป็น "ปัญญา"
(17) ถ้าเปลี่ยน"ความทุกข์" เป็น "ความสุข"
(18) ถ้าเปลี่ยน"ริษยา" เป็น "มุทิตา"
(19) ถ้าเปลี่ยน "อุปสรรค" เป็น "อุปกรณ์"
(20) ถ้าเปลี่ยน "วิกฤต" เป็น "โอกาส"
(21) ถ้าเปลี่ยน"คนอื่น" เป็น "การเปลี่ยนตนเอง"
"พร 4 ข้อของ" ว.วชิรเมธี
(1) อย่าเป็นนักจับผิด
คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่าหลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
“กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก”
คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส “จิตประภัสสร” ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี
“แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข”
(2) อย่ามัวแต่คิดริษยา
“แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน”
คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า “เจ้ากรรมนายเวร”
ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน
ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น “ไฟสุมขอน” (ไฟเย็น)
เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี “แผ่เมตตา”
หรือ ซื้อโคมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป
(3) อย่าเสียเวลากับความหลัง
90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ “ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น”
มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ “อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน”
“อยู่กับปัจจุบันให้เป็น” ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี “สติ” กำกับตลอดเวลา
(4) อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
“ตัณหา” ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี
เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ
ธรรมชาติของตัณหา คือ “ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม”
ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่คุณค่าเทียม
เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้ ใส่เพื่อความโก้หรู
คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร
แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่ คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
เราต้องถามตัวเองว่า “เกิดมาทำไม”
“คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน”
ตามหา ” แก่น ” ของชีวิตให้เจอ
คำว่า “พอดี” คือถ้า “พอ” แล้วจะ”ดี”
รู้จัก “พอ” จะมีชีวิตอย่างมีความสุข
credit: http://www.crma.ac.th/service/kumsorn.htm
[ วิธีแก้กรรม เพื่อบรรเทาวิบากกรรมชั่วกระหน่ำ ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น คุยกันสนุกๆ